ประวัติความเป็นมา

หากกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการถ่ายภาพจากอดีตถึงปัจจุบัน สามารถสรุปได้ว่าการถ่ายภาพมีวิวัฒนาการมาจากศาสตร์ 2 สาขา คือ ฟิสิกส์  และ  เคมี โดยในครั้งแรกสุดเริ่มจากสาขาฟิสิกส์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช จากหลักฐานที่อริสโตเติล บันทึกไว้ว่า “ถ้าปล่อยให้แสงผ่านเข้าไปทางช่องเล็กๆ  ในห้องมืดแล้วถือกระดาษขาวให้ห่างจากช่องรับแสงประมาณ 15 ซม. จะปรากฏภาพบนกระดาษ มีลักษณะเป็นภาพจริงหัวกลับ แต่เป็นภาพที่ไม่ชัดเจนนัก” จากหลักการจึงได้มีการประดิษฐ์กล้องรูเข็ม และพัฒนาเป็น กล้องออบสคิวรา (Camera Obscura) ซึ่งเป็นภาษาลาติน แปลว่า “ห้องมืด

       


ค.ศ. 1550 – 1573
มีการพัฒนากล้องออบสคิวราให้มีประสิทธิภาพขึ้นโดยการนำเลนส์นูนใส่ในช่องรับแสงเพื่อ  ทำให้ภาพสว่างขึ้น มีการประดิษฐ์ม่านบังคับแสง (Diaphragm) เพิ่มเติมในกล้อง ทำให้ภาพชัดขึ้น และใช้กระจกเว้าเพื่อให้ได้ภาพหัวตั้ง 
ค.ศ. 1676
Johann Sturm ประดิษฐ์กล้องรีเฟลกซ์ (Reflex Camera) กล้องแรกของโลก โดยใช้กระจกเงาวางตั้งมุม 45 องศา เพื่อสะท้อนภาพให้สะดวกแก่การมองภาพ

ค.ศ. 1727-1777
ช่วงนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสาขาเคมี โดย Johann Heinrich Schulze ชาวเยอรมัน พบว่าสารผสมของชอล์กกับเกลือเงินไนเตรทเมื่อถูกแสง  แล้วจะทำให้เกิดภาพสีดำ และ Carl William Scheele ชาวสวีเดน พบว่าแสงสีน้ำเงินและสีม่วงของ positive มีผลทำให้เกลือเงินไนเตรทและเกลือเงินคลอไรด์ เปลี่ยนเป็นสีดำได้มากกว่าแสงสีแดง

ค.ศ. 1826-1840
เป็นช่วงของบุคคลสำคัญ 3 ท่าน คือ
·        เนียพซ์ (Niepce) - ผู้ถ่ายภาพ (ถาวร) ภาพแรกของโลก
·        ดาแกร์ (Daguerre) - ผู้คิดค้นระบบดาแกร์ไทพ์ ที่ได้รับความนิยมและแพร่หลาย
·        ทัลบอท (Talbot) – ผู้คิดค้นระบบถ่ายภาพที่เป็นต้นกำเนิดของระบบฟิล์มในปัจจุบัน


ค.ศ. 1851-1878
มีการคิดค้นกระบวนการเพลทเปียก (Wet Plate) กระบวนการ เพลทแห้ง (Dry Plate) และแพนโครแมติคเพลท (Panchromatic Plate) ต่อมาได้มีการปรับปรุงเพลทแห้งให้มีความไวแสงสูงขึ้น สามารถถ่ายภาพโดยใช้ความเร็ว  ชัตเตอร์ 1/25 วินาทีได้ ซึ่งใช้เวลารับแสงเร็วกว่าเดิมถึง 50-60 เท่า
ค.ศ. 1888
George Eastman ชาวอเมริกัน ได้ผลิตกล้องบ๊อกซ์ โกดัก (Kodak Box Camera) ออกจำหน่ายโดยใช้ฟิล์มกระดาษฉาบน้ำยาม้วนยาวบรรจุในกล้องถ่ายภาพ สามารถถ่ายได้ 100 ภาพติดกัน เมื่อถ่ายแล้วต้องส่งไปล้างฟิล์มและอัดภาพที่บริษัท ทำให้มี   ผู้นิยมใช้มาก ต่อมาได้พัฒนาฟิล์มเป็นวัตถุโปร่งใสแทนกระดาษซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการผลิตฟิล์มสมัยต่อมา

การถ่ายภาพในเมืองไทยยุคแรก
หนังสือ "สยามประเภท" ฉบับวันที่ 11 เม.ย. 2444 บันทึกไว้ว่า การถ่ายภาพเริ่มเข้ามาในเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพระยาไทรบุรี ได้ส่ง “รูปเจ้าวิลาต (สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย) ” ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย แต่พระองค์ไม่ทรงเชื่อว่าเป็นรูปถ่าย ทรงเห็นว่าเป็นเพียงรูปเขียนอย่างแต่ก่อนมาเท่านั้นปัจจุบันไม่มีผู้ใดพบเห็นภาพดังกล่าว นอกจากนี้ ก.ศ.ร. กุหลาบ เจ้าของหนังสือเล่มเดียวกัน ยังกล่าวว่าประเทศไทยมีช่างถ่ายรูปคนแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367-2394) เป็นสังฆราชฝรั่งเศส  ชื่อ ปาเลอกัว ส่วนคนไทยที่เป็นช่างถ่ายรูปคนแรกคือ พระยากระสาปน์กิจโกศล หรือนายโหมด ต้นตระกูลอมาตยกุล ซึ่งเป็นศิษย์ของ ปาเลอกัว นั่นเอง


                                                         
ปาเลอกัว
พระยากระสาปน์กิจโกศล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น